การลดระดับความสัมพันธ์ของ European Union (EU) ต่อไทย เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา แม้จะไม่ถึงระดับการ Sanction หรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทย แต่ส่งผลให้การเจรจาและลงนามใน Partnership & Cooperation Agreement (PCA) ระหว่างประเทศไทยและ EU ต้องระงับไป ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
และเมื่อมีการระงับการลงนามใน PCA จึงส่งผลให้การลงนามเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ระหว่างประเทศไทย และ EU ต้องชะลอออกไปด้วยเช่นกัน ทั้งที่หลายฝ่ายเห็นว่า FTA เป็นกลไกสำคัญที่จะมาทดแทนการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในปี พ.ศ. 2558 ที่ EU เคยให้สิทธิแก่ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ทั้งอาหารทะเล กุ้ง และไก่ ฯลฯ
ดังนั้น การกำหนดมาตรการบรรเทาปัญหาข้างต้นแก่ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ จึงนับเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานต่างๆ จะได้กำหนดขึ้นให้มีความชัดเจนล่วงหน้า พร้อมไปกับการเร่งปรับระดับความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และ EU ต่อไป
การประกาศลดระดับความสัมพันธ์ของ European Union (EU) ต่อประเทศไทย อันเป็นผลสืบเนื่องจากการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้ว่าการลดระดับความสัมพันธ์ดังกล่าว จะไม่ถึงระดับของการ Sanction หรือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ได้ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาแก่นักลงทุน และผู้ประกอบการในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ที่มีตลาดสำคัญในกลุ่มชาติสมาชิก EU
ซึ่งแน่นอนว่าหาก คสช. และผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถที่จะสร้างความเข้าใจและปรับระดับความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และ EU ได้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ที่มีการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออก และการท่องเที่ยว เป็นตัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญ
ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพี่อระงับความขัดแย้งทางความคิดและการเมืองของประชาชนในประเทศ ก่อนจะลุกลามเกินความคาดหมายที่อาจจะยากแก่การควบคุมสู่ความสงบและสันติได้ดังเดิม ซึ่งผลจากการรัฐประหารของ คสช. ในปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา สามารถหยุดยั้งความขัดแย้งที่รุนแรงในประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ
หากแต่กระบวนการและวิธีการที่ คสช. ได้ดำเนินการ ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มชาติตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป หรือ European Union (EU) ซึ่งได้สะท้อนท่าทีความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ คสช. ด้วยกลไกทางการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ แต่ที่ส่งผลสะเทือนแก่สังคมและภาคเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก คือ กลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศของ EU ได้ออกแถลงการณ์ลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557
โดยสาระหลักของแถลงการณ์ครั้งนี้ คือ การให้ประเทศสมาชิก EU ลดระดับความสัมพันธ์กับไทย ทั้งการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน และที่สำคัญ คือ การระงับการลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทย (Partnership & Cooperation Agreement : PCA) จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมถึง การให้ชาติสมาชิก EU ทบทวนความสัมพันธ์ทางทหารกับกองทัพไทยในอีกมิติหนึ่ง
ผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจไทย
แม้แถลงการณ์ลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทยในครั้งนี้ จะไม่ถึงระดับการคว่ำบาตร หรือ Sanction ทางเศรษฐกิจและการเงินกับประเทศไทย แต่ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและจิตวิทยาแก่ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก
โดยผลกระทบทางตรงที่เด่นชัดที่สุด คือ เมื่อมีการระงับการลงนามใน PCA ย่อมหมายถึง การชะลอการเจรจาและลงนามด้วยว่าเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ระหว่างประเทศไทย และ EU ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่มาทดแทนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ EU เคยให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศไทย แต่จะถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป จึงมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทย เช่น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี เครื่องประดับ ยานยนต์ รวมถึง ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากทะเล กุ้ง และไก่ ฯลฯ มีความเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งขันในตลาด EU ที่มีมูลค่าการส่งออกจากประเทศไทยกว่า 7 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2556 และเพียง 5 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาด EU กว่า 3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ EU ซึ่งเคยนำเงินมาลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอื่นๆ ในประเทศไทยกว่า 4 หมื่นล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2556 มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะต้องระงับ ชะลอ หรือแม้แต่การปรับแผนการลงทุนในประเทศไทย ด้วยสาเหตุสำคัญ คือ การระงับการลงนามใน PCA ระหว่างประเทศไทยและ EU อีกเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะสาระสำคัญของ PCA คือ การกำหนดรากฐานความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างประเทศไทยและ EU ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาวต่อไป
ผลกระทบทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นจากการลดระดับความสัมพันธ์ของ EU ต่อประเทศไทย ร่วมกับแรงส่งจากข่าวสารสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญให้นักท่องเที่ยวจากชาติสมาชิก EU ปรับเปลี่ยนเส้นทางการท่องเที่ยวไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มชาติสมาชิก Asean จึงมีความเป็นไปได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจาก EU ในปี พ.ศ. 2557 จะมีจำนวนที่ลดลงจากปี พ.ศ. 2556 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวจาก EU เดินทางมาท่องเที่ยวไทยกว่า 7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของทั้งหมด
ข้อเสนอแนะ
เมื่อตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งด้านการลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากการลดระดับความสัมพันธ์ของ EU ในครั้งนี้ แม้จะยังไม่แสดงออกถึงผลกระทบที่ชัดเจนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วหลายฝ่ายเชื่อว่าจะสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างมาก
ดังนั้น การปรับตัวโดยภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง โดยผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวสู่การแข่งขันในตลาดที่ปราศจากความได้เปรียบด้านภาษี ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบ Supply Chain ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่มีต้นทุนในกระบวนการที่ต่ำลง เป็นต้น
สำหรับภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง ควรกำหนดมาตรการชี้แจงและบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมถึง การกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทางตรง และมีความยืดหยุ่นในระบบ Supply Chain ต่ำ เช่น ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และแปรรูปอาหาร พร้อมไปกับการเร่งทำความเข้าใจ และยกระดับความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และ EU ต่อไป
แหล่งที่มา : อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร