การลดระดับประเทศไทยไปสู่บัญชีต่ำสุด หรือ Tier 3 ของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report : TIP) ประจำปี พ.ศ. 2557 ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อาจจะเป็นเงื่อนให้อุตสาหกรรมการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารทะเล อาหารทะเลแปรรูป และอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตก ที่ตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอย่างมาก
ทางออกของประเทศไทยในเวลานี้ คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 : TVPA) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยไปสู่บัญชีที่สูงขึ้น และสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารควรนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่เข้มข้น มาปรับใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารอย่างจริงจัง นับจากนี้เป็นต้นไป
จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report : TIP) ประจำปี พ.ศ. 2557 ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาที่แสดงให้นานาประเทศได้ทราบถึงสถานะของประเทศไทย ที่ได้ถูกปรับลดระดับไปสู่บัญชีต่ำสุด หรือใน Tier 3 ของรายงานดังกล่าว และอาจจะสร้างผลกระทบแก่ภาคการส่งออก ที่มีตลาดสำคัญในกลุ่มชาติตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (European Union : EU) ด้วยเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าที่จะเกิดขึ่นต่อไปในระยะยาว หากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจากภาคการประมง ไม่สามารถปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศได้ และอาจจะหมายถึง การสูญเสียตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อปี แก่คู่แข่งขันในตลาดส่งออกของไทย
รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report : TIP)
รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report : TIP) คือ รายงานที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามกรอบกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 : TVPA) เพื่อนำเสนอแก่รัฐสภาสหรัฐอเมริกา โดยการเปรียบเทียบสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ กับมาตรฐานและกรอบของกฎหมาย TVPA ของสหรัฐอเมริกา และจัดลำดับมาตรฐานให้แก่ประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 บัญชี (ระดับ) คือ
บัญชี Tier 1 หรือระดับดีที่สุด ซึ่งหมายถึง ประเทศที่มีการดำเนินงานด้านการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของ TVPA ของสหรัฐอเมริกา
บัญชี Tier 2 คือ ประเทศที่มีการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกา แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยามยามที่จะแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม
บัญชี Tier 2 Watch List คือ กลุ่มประเทศที่มีรายงานเหยื่อและการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานและการแสดงออกซึ่งความพยายามต่อต้านปัญหาการค้ามนุษย์ภายในประเทศ
บัญชี Tier 3 หรือระดับต่ำสุด ซึ่งหมายถึง กลุ่มประเทศที่มีมาตรการหรือการดำเนินการด้านการต่อต้านปัญหาการค้ามนุษย์ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกา อีกทั้ง ยังไม่มีหลักฐานหรือการแสดงออกซึ่งความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศ
สถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย
ประเทศไทยได้ถูกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา จัดอยู่ในบัญชี Tier 2 Watch List ของรายงาน TIP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ที่พบว่าประเทศไทยเป็นต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของการค้ามนุษย์ ทั้งการบังคับค้าแรงงาน ที่พบมากในอุตสาหกรรมประมง และการค้าประเวณีในกลุ่มเด็ก และสตรี จะมีทั้งในประเทศไทย และการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศต่างๆ ต่อไป โดยมีเหยื่อในการค้ามนุษย์ คือ ประชาชนในประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา สปป.ลาว รัสเซีย จีน และแม้แต่ชาวโรฮิงยา
ขณะที่ประชาชนไทย ยังต้องประสบกับปัญหาการค้ามนุษย์ จากการถูกล่อลวงไปค้าแรงงานในต่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขการทำงานที่ไม่เป็นธรรม และจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาพการทำงานใช้หนี้แก่ผู้ว่าจ้าง เหล่านี้เป็นต้น
โดยรัฐบาลในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เสนอแผนที่จะปรับแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานตามกรอบกฎหมาย TVPA ของสหรัฐอเมริกา แต่ไม่เพียงพอที่จะแสดงถึงความพยายามในการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ ดังนั้น ในรายงาน TIP ในปี พ.ศ. 2557 สหรัฐอเมริกา จึงได้ปรับลดสถานะของไทยจาก Tier 2 Watch List สู่ Tier 3 ในที่สุด
Tier 3 กับผลกระทบในอุตสาหกรรมอาหาร
จาการปรับลดระดับประเทศไทย ไปสู่ระดับ Tier 3 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดเป็นระดับต่ำสุดของรายงานดังกล่าว และอาจจะเป็นเงื่อนไขให้ไทยต้องสูญเสียความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึง การกีดกันการขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันสำคัญระหว่างประเทศต่างๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือธนาคารโลก เป็นต้น
ซึ่งบทลงโทษข้างต้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเล และอาหารทะเลแปรรูป ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์อย่างใกล้ชิด ที่อาจจะถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา และสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union : EU) และหมายถึงมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศไทยจะต้องสูญเสียตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อปี
ข้อเสนอแนะ
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้แนะนำการปรับตัวแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารไทยในสภาวการณ์ดังกล่าว โดยการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่เข้มข้นมาปรับใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารอย่างจริงจัง รวมถึง การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ เพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ภายในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างบูรณาการ ให้รัฐบาลและภาคประชาชนของสหรัฐอเมริกา ได้ปรับมุมมองอุตสาหกรรมอาหารไทยในเชิงบวก พร้อมไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกช่องทาง เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยแก่นานาประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
แหล่งที่มา : อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร