จากแนวโน้มการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ได้คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2557 ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.8 ขณะที่สหภาพยุโรป (European Union : EU) มีการขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 1 และประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลอาจจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 1.7 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขนาดกลางและใหญ่ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นนับจากกลางปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา
เหล่านี้ คือ สัญญาณบ่งบอกถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารทะเล และอาหารที่มีวัตถุดิบจากเนื้อสัตว์ เช่น ไก่สด และแปรรูป จะสามารถเพิ่มหรือขยายปริมาณและมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศหรือกลุ่มประเทศข้างต้นได้เพิ่มขึ้น
แต่ทั้งนี้ การที่อุตสาหกรรมอาหารของไทยจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ ทั้งข้อจำกัดด้านอุปทานของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร การปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรง และภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อปัญหาการค้ามนุษย์หรือใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารทะเล
ปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ล้วนส่งผลต่อความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเป็นระบบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการพัฒนาระบบมาตรฐานในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลตามโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จะสร้างมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารนับล้านล้านบาทต่อปีแก่ประเทศไทย
ด้วยแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่น กอปรกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้คาดการณ์มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ในปี พ.ศ. 2557 จะเพิ่มขึ้นตามเป้าที่ 9.7 แสนล้านบาท และในปี พ.ศ. 2558 อุตสาหกรรมอาหารไทย มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ถึงระดับล้านล้านบาท หากสามารถแก้ไขหรือปรับปรุงจุดอ่อนต่างๆ ของผู้ประกอบการและปัญหาภายในประเทศให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศได้
อุตสาหกรรมอาหาร กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก
อุตสาหกรรมอาหารของไทย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก กว่า 9 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2556 และคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2557 จะมีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 9.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ได้คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2557 จะเป็นปีที่ประเทศและกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญของโลกจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วกัน เช่น สหรัฐอเมริกา จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.8 ขณะที่สหภาพยุโรป (European Union : EU) ซึ่งขับเคลื่อนโดยประเทศเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นหลัก จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมได้มากกว่าร้อยละ 1 และในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินและการคลังจากรัฐบาล จึงคาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1.7
แนวโน้มข้างต้น ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา EU และญี่ปุ่น มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล และเนื้อสัตว์ เช่น ไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง รวมถึง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ซึ่งสอดคล้องกับ CEO Food Index หรือดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ที่จัดทำโดยสถาบันอาหาร และเปิดเผยเมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2557 ได้แสดงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ระดับ 55.0 และคาดการณ์ว่าระดับความเชื่อมั่นจะอยู่ในระดับ 57.7 ในอีก 3 เดือนต่อไป ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ที่ดี
จุดอ่อน และอุปสรรคที่ต้องแก้ไข
แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มและทิศทางการฟื้นตัว จึงได้สร้างความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้น และส่งผลสะท้อนเชิงบวกแก่อุตสาหกรรมอาหารกลุ่มต่างๆ ของไทย ให้สามารถเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกได้เพิ่มขึ้น
หากแต่ผลประโยชน์ดังกล่าว จะเกิดและตกแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้อย่างเต็มที่ และนำพาให้อุตสาหกรรมอาหารสร้างมูลค่าการส่งออกได้ถึงระดับล้านล้านบาทในปี พ.ศ 2558 จำเป็นที่ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหาร จะต้องเร่งลดจุดอ่อนและอุปสรรคต่างๆ ของอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน คือ
– แก้ไขปัญหาด้านอุปทานของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารให้มีความมั่นคง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอต่อการพัฒนาหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มต่างๆ
– แก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ EU ที่ได้ลดระดับความสัมพันธ์กับไทยจากปัจจัยด้านการเมือง ส่งผลให้การเจรจาและลงนามใน Partnership & Cooperation Agreement (PCA) ระหว่างประเทศไทยและ EU ต้องระงับไป หรือการลดอันดับให้ไทยไปอยู่ในบัญชี 3 (Tier 3) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report : TIP) และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor) ของสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงปัญหาในด้านศักยภาพด้านการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุนและอุปสรรคทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่น้อยกว่าไทย
จุดแข็ง และโอกาสที่ต้องสร้าง
แนวทางการแก้ไขจุดอ่อนและอุปสรรคต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหารของไทย คือ การเสริมสร้างจุดแข็งของอุตสาหกรรมอาหารไทย ที่มีความหลากหลายด้านวัตถุดิบ และประสบการณ์ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารที่มีเหนือกว่าประเทศคู่แข่งขันต่างๆ พร้อมกับการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตามโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก
รวมถึง การเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาล ในการดำเนินมาตรการสร้างความเชี่อมั่นทางการเมือง และการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานเด็กอย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นเป็นแรงสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้ปรับตัวและสร้างมูลค่าการส่งออกถึงระดับล้านล้านบาทในอนาคตได้ไม่ยาก
แหล่งที่มา : อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร