คลัสเตอร์มะพร้าวบูม SME ตอบรับดีทะลุเป้า 3,300 ราย
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว ตามที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เผยเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว ผู้ประกอบการภาคการผลิตและแปรรูปทั่วประเทศตอบรับดี สมาชิกเครือข่ายทะลุเป้า 3,300 รายแล้ว เฉพาะจ.ประจวบคีรีขันธ์มีผู้ให้ความสนใจมากกว่า 1,000 ราย รวม 9 กลุ่มเครือข่าย รองลงมาคือสุราษฎร์ธานีไม่น้อยกว่า 450 ราย รวม 3 กลุ่มเครือข่าย ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งทีมผู้เชี่ยวชาญประชุมกลุ่มในหลายพื้นที่ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจหลายหลักสูตร เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การรวมกลุ่มให้ครบตามเป้าหมายไม่น้อยกว่า 25 กลุ่มเครือข่าย(Cluster) ภายในเดือนสิงหาคมนี้
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่สถาบันอาหารได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)ให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่ายSME ปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว ขณะนี้สถาบันอาหารได้จัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปประชุมกลุ่ม จัดอบรมพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้เกษตรกร และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยทยอยดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายรวม 17 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา สตูล ปัตตานี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก นครสวรรค์ เลย ขอนแก่น หนองคาย นครราชสีมา และร้อยเอ็ด แบ่งเป็น 27 กลุ่ม รวมจำนวน 3,300 ราย โดยจ.ประจวบคีรีขันธ์มีผู้ให้ความสนใจสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายสูงสุดราว 1,350 ราย เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศคือประมาณ 422,000 ไร่ คาดว่าจะสามารถรวมกลุ่มได้ 9 กลุ่มเครือข่าย จาก 4 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมือง อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพานน้อย และอำเภอสามร้อยยอด รองลงมาคือจ.สุราษฏร์ธานี มีผู้สนใจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 450 ราย คาดว่าจะสร้างเครือข่ายได้ 3 กลุ่มเครือข่าย ส่วนที่เหลือจังหวัดละ 1 เครือข่าย
หลังจากนั้นจะผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มให้ได้อย่างน้อย 25 เครือข่ายตามเป้าหมาย ภายในเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมคัดเลือกผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA) จำนวน 2-3 คนต่อกลุ่มเครือข่าย รวมไม่น้อยกว่า 70 คน เพื่อจัดทำแผนพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ทั้งระยะสั้น (1 ปี) ระยะกลาง (3 ปี) และระยะยาว (5 ปี) ในลำดับต่อไป
“ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันอาหาร ได้จัดให้มีประชุมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว ในกลุ่มจังหวัดสมุทรสาคร ในพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว ณ เทศบาลตำบลบ้านแพ้ว มีผู้เข้าร่วมจำนวน 156 คน โดยนางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รักษาการรองผู้อานวยการสถาบันอาหาร และนางสุนีย์ สุขสุเดช ปลัดอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มาร่วมงานด้วย พร้อมจัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องสถานการณ์การผลิตและการตลาดพร้อมแนวโน้มอุตสาหกรรมมะพร้าว ความสำคัญของการรวมกลุ่มเครือข่าย (Cluster) ความคาดหวังในการรวมกลุ่ม การสร้างความสัมพันธ์กลุ่ม การจัดโครงสร้างกลุ่ม การจัดทำการประเมินตนเอง(Self Assessment) การจัดทำ Cluster Map การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะพร้าว โดย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการและการตลาด นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเรื่องการเลือกพื้นที่ปลูก การเลือกพันธุ์มะพร้าว เทคนิคการปลูก การดูแลรักษา และการปลูกพืชเสริมกรณีผู้ปลูกใหม่ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญการปลูกและการดูแลรักษามะพร้าว นายสิทธิชัย ทิมเทียม จากสวนไทรทอง ศูนย์การเรียนรู้มะพร้าวพันธ์ดี”
โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการต้นน้ำเป็นหลัก สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มธุรกิจเกษตรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าว เนื่องจากผลผลิตในปัจจุบันไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันในภาคการผลิตและแปรรูปจะมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจมะพร้าวประเภท การผลิตกะทิสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว และเครื่องสำอางที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่มนี้ตลาดมีอัตราการเติบโตสูง เฉพาะในปี 2560 คาดว่าการส่งออกมะพร้าวของไทยจะมีมูลค่า 17,492 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 ในระยะยาวยังคงมีแนวโน้มเติบโตตามกระแสนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ SMEไทยจึงควรพยายามเร่งผลผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจะไม่พลาดโอกาส
อนึ่ง ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมในกลุ่มมะพร้าวมีการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2559 มีมูลค่าส่งออก 14,544 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ตลาดส่งออกหลักของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนร้อยละ 30.3 รองลงมาคือสหภาพยุโรป และจีน มีสัดส่วนร้อยละ 28.3 และ 10.9 ตามลำดับ โดยจีนถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงสุดถึงร้อยละ 100.2 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555 – 2559) ซึ่งเป็นผลจากความนิยมบริโภคน้ำกะทิเป็นเครื่องดื่มของชาวจีน โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกมะพร้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ กะทิสำเร็จรูป (75.1%) มะพร้าวอ่อน (14.5%) มะพร้าวแห้ง (5.4%) มะพร้าวสด (2.5%) และน้ำมันมะพร้าว(2.4%) โดยผลิตภัณฑ์มะพร้าวสดขยายตัวโดดเด่นที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 178.9 จากความต้องการของประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือน้ำมันมะพร้าว ขยายตัวร้อยละ 60.4
…………………………………